ครั้งเมื่อเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว ได้เกิดสงครามภายในขึ้น
มีการสู้รบเพื่อแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน สงครามได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง
และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้รักความสงบโดยรอบ
ประชาชนผู้ประสบภัยสงครามจึงได้พากันอพยพข้ามฝั่งมาเป็นจำนวนมาก
สันนิษฐานว่าประชาชนกลุ่มนี้ อาจเป็นกลุ่มที่นำโดยเจ้าพระวอ เจ้าพระตา
โดยได้ทำการต่อสู้กับกองทัพทหารบ้าง ถอยบ้าง จนมาถึงบริเวณหนองพลับ
และได้เห็นพ้องกันว่าเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย
อีกทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้สร้างหลักฐานจนกลายเป็นชุมชนขึ้นมา
พร้อมกันนี้ก็ได้สร้าง “วัดดงศิลาเลข” ขึ้นมา
(ปัจจุบันได้ร้างไปแล้ว) เพื่อเป็นศูนย์รวมของชุมชน
ในขณะนั้นมีชาวบ้านที่อพยพมาในครั้งนั้น ชื่อ “ขุนศรี”
ซึ่งมีฝืมือในการล่าสัตว์ โดยจะออกล่าสัตว์ตามสถานที่ต่างๆ
เช่น หนองแสง หนองสะพัง หนองนา โดยเฉพาะที่หนองนานั้น
มีสัตว์อยู่ชุกชุมเพราะเป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าที่อื่น
ขุนศรีจึงได้สร้างที่พักใกล้บริเวณหนองนาเพื่อสะดวกในการล่าสัตว์
ต่อมาก็มีผู้คนได้อพยพตามขุนศรีมาเป็นจำนวนมาก
จนกลายเป็นหมู่บ้านใหม่ขึ้นมาชื่อ “บ้านศรีฐาน”
โดยมีคำว่า “ศรี” มาจากชื่อของขุนศรี
และคำว่า “ฐาน” มาจากถิ่นฐานที่มีความอุดมสมบูรณ์
จึงกลายเป็น “หมู่บ้านศรีฐาน” ในปัจจุบัน
วัดที่ชาวบ้านได้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวบ้านนั้น
เดิมมีชื่อว่า “วัดศรีษะเกษ” ซึ่งด้านทิศเหนือของวัดเป็นป่าไม้แดงขึ้นหนาแน่น
เป็นที่อาศัยของสัตว์ต่างๆ เช่น ฝูงลิว กระรอก กระแต เป็นต้น
ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “ดอนปู่ตา”
ราวปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม
และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พร้อมด้วยคณะพระกรรมฐาน
ได้ออกเที่ยวจาริกเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมและเผยแผ่พระศาสนา
กระทั่งได้มาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ ท่านทั้งสองเกิดความพอใจบริเวณดอนปู่ตา
เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมต่อการภาวนา
พร้อมทั้งยังได้เทศนาสั่งสอนชาวบ้านให้เลิกนับถือผี
แล้วหันมาพึ่งคุณของพระรัตนตรัยแทน และให้เข้าใจวัตรปฏิบัติของพระกรรมฐาน
ภายหลังประชาชนจึงเกิดความเลื่อมใสขึ้น
ทั้งยังได้พร้อมใจกันถวายดอนปู่ตาให้สร้างเป็นวัดขึ้นมา และได้เรียกกันว่า “วัดป่า”
ในขณะนั้นวัดศรีษะเกษซึ่งเป็นวัดเดิม ไม่มีพระจำพรรษาอยู่
ชาวบ้านจึงเห็นควรว่าให้รวมวัดเดิมกับวัดป่าให้เป็นวัดเดียวกัน
เพราะมีเขตติดต่อกันเพื่อสะดวกต่อครูบาอาจารย์ ซึ่งวัดที่เกิดใหม่นี้
ชาวบ้านได้เรียกกันว่า “วัดป่าศรีฐานใน” จนมาถึงปัจจุบันนี้
วัดป่าศรีฐานในจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของศรัทธาญาติโยมชาวบ้านศรีฐาน
และเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตั้งแต่นั้นมา